Sub Navigation Links

webmaster's News

บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ตั้ง ๑๖ ทีมวางแผนกำลังคนรับมือการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า



บอร์ดกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ตั้ง ๑๖ ทีมวางแผนกำลังคนรับมือการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า



คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ตั้ง ๑๖ คณะทำงาน จับมือศึกษา จัดทำข้อเสนอทางนโยบายเพื่อวางแผนกำลังคนสุขภาพ ทั้งจำนวนและสมรรถนะของบุคลากรทุกสาขาวิชาชีพ ที่สามารถรับมือสถานการณ์อนาคต ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และลักษณะโรค ในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๘ มีการประชุม คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ, (ว่าที่) รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ และกรรมการทั้งจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบกับ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า” ที่คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๙) นำเสนอ หลังจากคณะกรรมการได้เห็นชอบ โครงการศึกษาการวางแผนกำลังคนฯ นี้ไปแล้ว ในการประชุมครั้งแรกเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยอย่างน้อย ๑๖  ชุด ที่ครอบคลุมสาขาอาชีพ อาทิ แพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, พยาบาล, เทคนิคการแพทย์, สาธารณสุข, แพทย์แผนไทย, สัตวแพทย์ และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะที่จำเป็นต่อสถานการณ์สุขภาพ เช่น ผู้ดูแลคนพิการ/ผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เป็นต้น โดยจะวางแผนกำลังคนแบบบูรณาการไปพร้อมกับการแบ่งกลุ่มตามรูปแบบบริการสุขภาพ ที่จำเป็น อาทิ การบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ระบบดูแลการผลิต ดูแลยาและเภสัชภัณฑ์ ความปลอดภัยในการทำงาน รูปแบบสังคมเมือง เป็นต้น
นพ.มงคล กล่าวว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ จะช่วยให้แต่ละสาขาวิชาชีพ คาดการณ์ความต้องการกำลังคนของตนเอง และกำหนดสมรรถนะที่เหมาะสมกับความจำเป็นและรูปแบบการให้บริการ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการบุคลากรในอนาคตได้ โดยวางกรอบการทำงานให้ได้คำตอบ ภายใน ๖ เดือนข้างหน้า  
 “การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ตัวเลขบุคลากรมารองรับการบริการในอนาคต แต่จะบูรณาการการทำงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกำลังคนในระดับพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ขาด แต่บางพื้นที่กลับมีแพทย์จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีโครงสร้างการทำงานรองรับ เช่น โรงพยาบาลบางแห่งมีศัลยแพทย์เป็นสิบคน แต่มีห้องผ่าตัดแค่ ๓ ห้อง”
  นอกจากนั้นมองว่า ระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อระบบสุขภาพและกำลังคน โดยเฉพาะโครงสร้างประชากรไทย ที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑ ใน ๔ ของประชากร ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า และการเติบโตของสังคมเมือง ทำให้การจัดบริการด้านสุขภาพมีความซับซ้อน โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่แฝงในชุมชนต่างๆ รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนต่อระบบบริการสุขภาพที่มากขึ้น และความคาดหวังของประชาชนต่อการรับบริการด้านสุขภาพ
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยใหม่ที่มากระทบ ได้แก่ โรคติดต่อเดิม อาทิ โรคเอดส์ ไข้เลือดออก และโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง รวมถึงกระแสโลกาภิวัตน์ การค้าระหว่างประเทศ และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระตุ้นให้มีการเคลื่อนย้ายคนระหว่างประเทศง่ายขึ้น ทั้งกำลังคนด้านสุขภาพ นักท่องเที่ยว และแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพง ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น  
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวเสริมว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ จะเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ประธานคณะทำงานทุกชุดจะร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมการ โดยเลขานุการของคณะทำงานฯ ทุกชุดจะเป็นทีมเลขานุการร่วมกัน การศึกษานี้จึงเป็นงานชิ้นใหญ่และสำคัญ ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปสนับ สนุนการบริหารจัดการกำลังคนอย่างเหมาะสม
“หลังจากนี้ จะมีการตั้งทีมเลขานุการร่วมของคณะทำงานย่อยแต่ละคณะ พร้อมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงาน โดยเปิดช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการกำลังคนฯ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอแนะที่ได้จาก ผลการสำรวจทัศนคติการทำงานในชนบทและปัจจัยในการเลือกสถานที่ปฏิบัติงาน ของบัณฑิตจบใหม่สาขาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ปี ๒๕๕๘ ซึ่งพบว่า โครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ (One District One Doctor – ODOD) สามารถสร้างโอกาสในการศึกษาให้กับนักเรียนจากพื้นที่ชนบทได้มากกว่าหลักสูตร อื่นๆ บัณฑิตมีแนวโน้มที่ตั้งใจจะทำงานในชนบทมากกว่ากลุ่มอื่น โดย ODOD และเภสัชกรชนบท เป็นสองหลักสูตรที่ลูกเกษตรกรมีสัดส่วนในการเข้าศึกษามากกว่าหลักสูตรอื่น ที่บัณฑิตมักจะมาจากครอบครัวข้าราชการหรือนักธุรกิจ ข้อสังเกตเชิงนโยบายเบื้องต้น คือ การผลิตกำลังคนสุขภาพที่ต้องการตอบโจทย์การคงอยู่ต่อเนื่องในชนบทนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ คือ หลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกนักเรียนจากพื้นที่ชนบท ต้องเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มเด็กที่เป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของ หลักสูตรได้จริง และการให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของนักเรียนก่อนเข้ามาศึกษา ในหลักสูตร ตั้งแต่ระดับมัธยม ข้อสังเกตนี้จะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงสาธารณสุข และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้วย

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  21st Oct 15

จำนวนผู้ชม:  34984

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   กำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง